หลักการ
ผู้รับอนุญาตผลิตต้องทําการผลิตผลิตภัณฑ์ยาเพื่อให้มีความมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มีความเหมาะสมสําหรับจุดมุ่งหมายในการใช้มีความถูกต้องตรงตามข้อกําหนดของทะเบียนตํารับยาและไม่เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคอันเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ประสิทธิผล หรือความปลอดภัยไม่เพียงพอ การบรรลุวัตถุประสงค์คุณภาพเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วมและความมุ่งมั่นจากบุคลากรทุกฝ่ายในทุกระดับขององค์กร รวมถึงผู้ส่งมอบและผู้จัดจําหน่ายเพื่อให้วัตถุประสงค์คุณภาพประสบความสําเร็จอย่างน่าเชื่อถือ ระบบของการประกันคุณภาพรวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยา และการควบคุมคุณภาพต้องมีการออกแบบให้มีรายละเอียดครบถ้วน ครอบคลุมอย่างเข้าใจและนําไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง มีการกําหนดไว้เป็นเอกสารอย่างครบถ้วนและมีการตรวจติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการประกันคุณภาพทุกส่วนควรมีทรัพยากรเพียงพอและมีบุคลากรที่มีความสามารถ มีอาคารสถานที่ เครื่องมือและสิ่งอํานวยความสะดวกที่เหมาะสมและเพียงพอ รวมถึงความรับผิดชอบทางกฎหมายสําหรับผู้รับอนุญาตผลิตและสําหรับผู้ที่ได้รับมอบหมาย
หลักการพื้นฐานของการประกันคุณภาพ หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต และการควบคุมคุณภาพจะมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน ในหมวดนี้ได้อธิบายไว้เพื่อเน้นถึงความสัมพันธ์และความสําคัญต่อการดําเนินการผลิตและการควบคุมของผลิตภัณฑ์ยา
นอกเหนือจากการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยา ส่วนที่ ๑ นี้แล้ว ให้ปฏิบัติตามภาคผนวกที่เกี่ยวข้องด้วย
การประกันคุณภาพ
ข้อ ๑ การประกันคุณภาพเป็นแนวคิดที่ครอบคลุมทุกอย่างที่มีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เป็นผลรวมของการบริหารจัดการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ยามีคุณภาพตามที่กําหนดสําหรับจุดมุ่งหมายในการใช้ ดังนั้นการประกันคุณภาพจึงเป็นการรวมหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาและปัจจัยอื่นไว้ด้วยกัน
ผู้รับอนุญาตผลิตต้องจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพที่เหมาะสมสําหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยาดังนี้
๑.๑ ผลิตภัณฑ์ยามีการออกแบบและพัฒนาโดยคํานึงถึงข้อกําหนดของหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยา และหลักเกณฑ์และวิธีการในห้องปฏิบัติการ
๑.๒ การดําเนินการผลิตและการควบคุมมีการกําหนดให้ชัดเจนโดยนําเอาหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยามาใช้
๑.๓ กําหนดความรับผิดชอบในการบริหารจัดการให้ชัดเจน
๑.๔ มีการจัดการผลิต การจัดหา การใช้วัตถุตั้งต้นและวัสดุการบรรจุอย่างถูกต้อง
๑.๕ มีการควบคุมที่จําเป็นของผลิตภัณฑ์ระหว่างผลิต มีการควบคุมระหว่างการผลิต และมีการตรวจสอบความถูกต้อง
๑.๖ ผลิตภัณฑ์สําเร็จรูปผ่านกระบวนการผลิตและตรวจสอบอย่างถูกต้องตามวิธีการปฏิบัติที่กําหนดไว้
๑.๗ ผลิตภัณฑ์ยาจะนําไปจําหน่ายหรือส่งมอบไม่ได้ถ้ายังไม่ผ่านการรับรองจากผู้ที่ได้รับมอบหมายว่ารุ่นผลิตนั้นมีการผลิตและควบคุมอย่างถูกต้องตามทะเบียนตํารับยาและกฎเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การควบคุม และการปล่อยผ่านผลิตภัณฑ์ยา
๑.๘ มีการจัดการที่ดีเพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ยามีการจัดเก็บ การจัดส่ง และการจัดการที่ต่อเนื่อง เพื่อให้มีคุณภาพตลอดอายุการใช้
๑.๙ มีวิธีการปฏิบัติสําหรับการตรวจสอบตนเองและการตรวจติดตามคุณภาพซึ่งทําเป็นประจํา เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความสามารถในการปฏิบัติตามระบบประกันคุณภาพ
หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยา
ข้อ ๒ หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาเป็นส่วนของการประกันคุณภาพ ซึ่งทําให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ผ่านขั้นตอนการผลิตและได้รับการควบคุมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีคุณภาพที่เหมาะสมสําหรับจุดมุ่งหมายการใช้และตรงตามทะเบียนตํารับยาหรือข้อกําหนดของผลิตภัณฑ์
หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาเกี่ยวข้องกับการดําเนินการผลิตและการควบคุมคุณภาพ ข้อกําหนดพื้นฐานของหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยามีดังนี้
๒.๑ มีการกําหนดกระบวนการผลิตทั้งหมดอย่างชัดเจน มีการทบทวนอย่างเป็นระบบโดยพิจารณาจากข้อมูลและประสบการณ์ที่ผ่านมา และแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาให้มีคุณภาพตามที่กําหนด และถูกต้องตามข้อกําหนดอย่างสม่ําเสมอ
๒.๒ มีการตรวจสอบความถูกต้องของขั้นตอนวิกฤตของกระบวนการผลิตและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการอย่างมีนัยสําคัญ
๒.๓ จัดให้มีสิ่งอํานวยความสะดวกที่จําเป็นอย่างเพียงพอ ประกอบด้วย
(๑) บุคลากรที่มีคุณสมบัติและผ่านการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม
(๒) สถานที่และเนื้อที่อย่างเพียงพอ
(๓) เครื่องมือและการบริการที่เหมาะสม
(๔) วัตถุ ภาชนะบรรจุและฉลากถูกต้อง
(๕) วิธีการปฏิบัติและคําแนะนําที่ผ่านการรับรอง
(๖) การจัดเก็บและการขนย้ายที่เหมาะสม
๒.๔ มีคําแนะนําและวิธีการปฏิบัติซึ่งเขียนโดยใช้ภาษาที่ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้ง่าย ไม่คลุมเครือ และมีความจําเพาะใช้ได้กับสิ่งอํานวยความสะดวกที่มี
๒.๕ ผู้ปฏิบัติงานได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง
๒.๖ มีการบันทึกระหว่างการผลิตเพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกขั้นตอนที่กําหนดในวิธีการปฏิบัติและคําแนะนําที่ระบุไว้ได้มีการปฏิบัติจริง และปริมาณกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ในกรณีที่มีความเบี่ยงเบนอย่างมีนัยสําคัญ ต้องบันทึกและสืบสวนหาสาเหตุ
๒.๗ บันทึกการผลิตและบันทึกการจําหน่ายต้องสามารถสอบกลับได้ถึงประวัติที่สมบูรณ์ของรุ่นผลิตนั้น ต้องเก็บรักษาไว้ในรูปแบบที่เข้าใจได้และสามารถนําออกมาใช้ได้
๒.๘ การจัดส่งผลิตภัณฑ์ต้องให้มีความเสี่ยงต่อคุณภาพน้อยที่สุด
๒.๙ มีระบบการเรียกเก็บคืนผลิตภัณฑ์จากการขายหรือการส่งมอบ
๒.๑๐ มีระบบการตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด การสืบสวนหาสาเหตุของผลิตภัณฑ์ที่มีความบกพร่องด้านคุณภาพ และมีมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการกับผลิตภัณฑ์ที่มีความบกพร่อง และมาตรการในการป้องกันการเกิดซ้ํา
การควบคุมคุณภาพ
ข้อ ๓ การควบคุมคุณภาพเป็นส่วนของหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาซึ่งเกี่ยวข้องกับการสุ่มตัวอย่าง ข้อกําหนด และการทดสอบ มีการทํางานร่วมกับหน่วยงานอื่นภายในองค์กร ในการดําเนินการด้านเอกสารและวิธีการปฏิบัติในการปล่อยผ่าน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการปล่อยผ่านวัตถุหรือวัสดุการบรรจุเพื่อนําไปใช้หรือไม่มีการปล่อยผ่านผลิตภัณฑ์เพื่อจําหน่ายหรือจัดส่ง จนกว่าจะผ่านการตัดสินว่ามีคุณภาพเป็นที่น่าพอใจ
ข้อกําหนดพื้นฐานของการควบคุมคุณภาพ ได้แก่
๓.๑ มีสิ่งอํานวยความสะดวกเพียงพอ มีผู้ปฏิบัติงานที่ผ่านการฝึกอบรม และมีวิธีการปฏิบัติที่ผ่านการรับรองสําหรับการสุ่มตัวอย่าง การตรวจสอบและการทดสอบวัตถุตั้งต้น วัสดุการบรรจุ ผลิตภัณฑ์ระหว่างผลิต ผลิตภัณฑ์รอบรรจุ ผลิตภัณฑ์สําเร็จรูป และการตรวจติดตามสภาวะแวดล้อมตามความเหมาะสม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยา
๓.๒ การสุ่มตัวอย่างวัตถุตั้งต้น วัสดุการบรรจุ ผลิตภัณฑ์ระหว่างผลิต ผลิตภัณฑ์รอบรรจุ และผลิตภัณฑ์สําเร็จรูป ต้องปฏิบัติโดยผู้ปฏิบัติงานและด้วยวิธีการที่ผ่านการรับรองจากฝ่ายควบคุมคุณภาพ
๓.๓ มีการตรวจสอบความถูกต้องของวิธีการทดสอบ
๓.๔ มีการบันทึกเพื่อแสดงให้เห็นว่า วิธีการปฏิบัติในการสุ่มตัวอย่างการตรวจสอบและการทดสอบได้มีการปฏิบัติจริงตามที่กําหนด หากเกิดความเบี่ยงเบนใดๆ ต้องมีการบันทึกและสืบสวน
๓.๕ ผลิตภัณฑ์สําเร็จรูปมีปริมาณสารออกฤทธิ์ถูกต้อง และมีคุณภาพตรงตามทะเบียนตํารับยา มีความบริสุทธิ์ตามข้อกําหนด บรรจุในภาชนะที่เหมาะสมและปิดฉลากที่ถูกต้อง
๓.๖ มีการบันทึกผลของการตรวจสอบและการทดสอบวัตถุ วัสดุการบรรจุ ผลิตภัณฑ์ระหว่างผลิต ผลิตภัณฑ์รอบรรจุ และผลิตภัณฑ์สําเร็จรูป พร้อมทั้งนําไปประเมินเปรียบเทียบกับข้อกําหนด การประเมินผลิตภัณฑ์ประกอบไปด้วยการทบทวนและการประเมินการดําเนินการด้านเอกสารของการผลิตรวมถึงการประเมินความเบี่ยงเบนจากวิธีการปฏิบัติที่กําหนดไว้
๓.๗ ไม่มีการปล่อยผ่านผลิตภัณฑ์รุ่นใดเพื่อจำหน่ายหรือส่งมอบก่อนได้รับการรับรองโดยหัวหน้าฝ่ายควบคุมคุณภาพหรือผู้มีหน้าที่ในการปล่อยผ่านผลิตภัณฑ์สําเร็จรูปว่าผลิตภัณฑ์มีความถูกต้องตรงตามทะเบียนตํารับยา
๓.๘ มีการเก็บรักษาตัวอย่างวัตถุตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ไว้อ้างอิงในจํานวนที่เพียงพอ เพื่อการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ในอนาคตหากจําเป็น และต้องเก็บรักษาในภาชนะบรรจุที่ส่งออกจําหน่าย นอกจากเป็นกรณีของการผลิตในภาชนะบรรจุขนาดใหญ่
การทบทวนคุณภาพผลิตภัณฑ์
ข้อ ๔ มีการทบทวนคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนตํารับไว้ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสําหรับส่งออกด้วย โดยให้ทําเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอหรือหมุนเวียนกันทํา วัตถุประสงค์ในการทบทวนจะต้องครอบคลุมเรื่องความสม่ำเสมอของกระบวนการผลิตและการควบคุม ความเหมาะสมของข้อกําหนดที่ใช้ในปัจจุบันสําหรับวัตถุตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ยาสําเร็จรูป เพื่อพิจารณาแนวโน้ม และเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการให้ดียิ่งขึ้น การทบทวนเหล่านี้ต้องทําเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นประจําทุกปีโดยดูจากผลการทบทวนครั้งก่อนประกอบด้วย และอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
๔.๑ การทบทวนเกี่ยวกับวัตถุตั้งต้นและวัสดุการบรรจุที่ใช้สําหรับผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะในกรณีของวัตถุตั้งต้นและวัสดุการบรรจุที่มาจากแหล่งใหม่
๔.๒ การทบทวนเกี่ยวกับผลของการควบคุมระหว่างกระบวนการในส่วนที่เป็นจุดวิกฤตและผลิตภัณฑ์ยาสําเร็จรูป
๔.๓ การทบทวนเกี่ยวกับทุกรุ่นผลิตที่พบว่าไม่ผ่านข้อกําหนดและการสืบสวนหาสาเหตุ
๔.๔ การทบทวนเกี่ยวกับทุกความเบี่ยงเบน หรือการไม่สอดคล้องตามข้อกําหนดที่มีนัยสําคัญ การสืบสวนหาสาเหตุ ประสิทธิผลของปฏิบัติการแก้ไข และปฏิบัติการป้องกัน
๔.๕ การทบทวนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการหรือวิธีวิเคราะห์
๔.๖ การทบทวนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของการยื่นคําขออนุญาต การอนุญาต การปฏิเสธ เอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนตํารับยา รวมถึงเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนตํารับยาสําหรับประเทศที่ ๓ ในกรณีของการส่งออก
๔.๗ การทบทวนเกี่ยวกับผลของการตรวจติดตามความคงสภาพ และแนวโน้มที่ไม่พึงประสงค์
๔.๘ การทบทวนเกี่ยวกับการคืนผลิตภัณฑ์ยาทั้งหมด ข้อร้องเรียน และการเรียกเก็บยาคืนที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพผลิตภัณฑ์รวมถึงการสืบสวนหาสาเหตุทันที
๔.๙ การทบทวนความเพียงพอของปฏิบัติการแก้ไขของกระบวนการหรืออุปกรณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า
๔.๑๐ กรณีของยาที่ขึ้นทะเบียนตํารับใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงไปจากทะเบียนตํารับต้องทําการทบทวนเงื่อนไขหรือคํารับรองที่ได้ทําไว้เกี่ยวกับการตรวจสอบภายหลังที่ผลิตภัณฑ์ยาออกสู่ตลาดแล้ว
๔.๑๑ สถานะของการตรวจรับรองเครื่องมือและระบบสนับสนุนการผลิตที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบอากาศ ระบบน้ำ ก๊าซอัด และอื่นๆ
๔.๑๒ การทบทวนเกี่ยวกับข้อตกลงทางเทคนิค (Technical agreements) เพื่อให้แน่ใจว่ามีความทันสมัยอยู่เสมอ
ผู้รับอนุญาตผลิตต้องประเมินผลของการทบทวนนี้และต้องนํามาประเมินว่า จะต้องมีปฏิบัติการแก้ไขและป้องกัน หรือการตรวจสอบความถูกต้องซ้ำด้วยหรือไม่ เหตุผลสําหรับปฏิบัติการแก้ไขนั้นต้องทําเป็นลายลักษณ์อักษร ปฏิบัติการแก้ไขและปฏิบัติการป้องกันที่ตกลงกันไว้ต้องแล้วเสร็จทันเวลาที่กําหนดอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีวิธีการปฏิบัติสําหรับการบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องของการจัดการแบบต่อเนื่องและการทบทวนวิธีการแก้ไขเหล่านั้น รวมถึงประสิทธิภาพของวิธีการปฏิบัติดังกล่าวต้องได้รับการทวนสอบในระหว่างการตรวจสอบตนเอง การทบทวนคุณภาพผลิตภัณฑ์อาจแบ่งเป็นกลุ่มตามประเภทของผลิตภัณฑ์ เช่น ยารูปแบบของแข็ง ยารูปแบบของเหลว ผลิตภัณฑ์ปราศจากเชื้อ และอื่นๆ
ในกรณีที่เจ้าของทะเบียนตํารับยาไม่ใช่ผู้รับอนุญาตผลิต ต้องมีข้อตกลงทางเทคนิคระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งกําหนดหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องในการจัดทําการทบทวนคุณภาพ ผู้ที่ได้รับมอบหมายสําหรับการรับรองรุ่นผลิตสุดท้ายและเจ้าของทะเบียนตํารับยาต้องร่วมกันสร้างความมั่นใจว่ามีการทบทวนคุณภาพในเวลาที่กําหนดและถูกต้อง
การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านคุณภาพ
ข้อ ๕ การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านคุณภาพคือ กระบวนการที่เป็นระบบสําหรับการประเมิน การควบคุม การสื่อสาร และการทบทวนความเสี่ยงต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยา โดยสามารถนําไปประยุกต์ได้ทั้งการเตรียมการล่วงหน้าและการทบทวนย้อนหลัง
ข้อ ๖ ระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านคุณภาพ
๖.๑ การประเมินความเสี่ยงต่อคุณภาพต้องใช้พื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการ และท้ายสุดต้องเชื่อมโยงไปสู่การคุ้มครองผู้ป่วย
๖.๒ ระดับของการบริหารจัดการ ระเบียบแบบแผน และเอกสารของกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านคุณภาพต้องสัมพันธ์กับระดับของความเสี่ยง
ตัวอย่างของกระบวนการต่าง ๆ และการประยุกต์การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านคุณภาพอย่างน้อยสามารถหาได้จากภาคผนวก ๒๐ ของเอกสาร Guide to Good Manufacturing Practices for Medicinal Products PE009-12, issued date 1 October 2015