ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๔

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและการคุ้มครองผู้บริโภค

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๖ (๒๑) แห่งพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพร ในการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๔ จึงออกประกาศกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้

หมายเหตุ วงเล็บด้านหน้าหลังข้อต่างๆ ผู้จัดทำได้เติมขึ้นเอง เพื่อให้สะดวกต่อการสืบค้น ตัวกฎหมายจริงๆ ไม่มีคำว่าข้อตามด้วยวงเล็บแต่อย่างใด

ข้อ ๑ (ชื่อประกาศ)

ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๔”

ข้อ ๒ (วันที่บังคับใช้)

ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ (สิ่งที่อนุญาตให้โฆษณาได้)

ข้อ ๓ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้โฆษณาได้ ดังต่อไปนี้

(๑) การโฆษณาด้วยข้อความตามที่ได้รับอนุญาตในการขึ้นทะเบียนตำรับ รับแจ้งรายละเอียดหรือรับจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร
(๒) การโฆษณาข้อมูลเกี่ยวกับราคา
(๓) การโฆษณาเครื่องหมายหรือการรับรองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร
(๔) การโฆษณาข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร
(๕) การโฆษณาอื่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนด

ข้อ ๔ (สิ่งที่ห้ามโฆษณา)

ข้อ ๔ ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรืออาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมอันเป็นส่วนรวม ดังต่อไปนี้

(๑) โฆษณาที่รวมอยู่กับการถวายพระพร หรือการกระทำอย่างอื่นที่อ้างอิงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(๒) โฆษณาที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน
(๓) โฆษณาที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมหรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในประเพณีและวัฒนธรรมอันดีของชาติ
(๔) โฆษณาที่อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบที่จะนำมาซึ่งอันตรายหรือความรุนแรง
(๕) โฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์สมุนไพร
(๖) โฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในราคาของผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงโฆษณาราคาเกินกว่าที่ปรากฏในฉลาก
(๗) โฆษณาโดยไม่สุภาพ หรือแสดงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย
(๘) โฆษณาโดยนำเสนอเนื้อหาว่าได้จัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๙) โฆษณาข้อมูลงานวิจัยด้านสรรพคุณ หรือข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ไม่สอดคล้องกับสรรพคุณ หรือข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพที่ได้รับอนุญาตในการขึ้นทะเบียนตตำรับ รับแจ้งรายละเอียด หรือรับจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือไม่น่าเชื่อถือ
(๑๐) โฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างพร่ำเพรื่อ เกินความจำเป็น
(๑๑) โฆษณาสรรพคุณที่ทำให้แท้งลูกหรือช่วยขับระดูอย่างแรง
(๑๒) โฆษณาสรรพคุณที่ช่วยบำรุงกามหรือคุมกำเนิด
(๑๓) โฆษณาคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรว่าสามารถป้องกัน บำบัด บรรเทา รักษา มะเร็ง เบาหวาน โรคเรื้อน วัณโรค เอดส์ โรคหรืออาการของโรคทางสมอง หัวใจและหลอดเลือด ปอด ม้าม ตับ ไต ตา และโรคอื่น ๆ ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนด
(๑๔) โฆษณาที่เป็นการทับถมหรือเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่น ยกเว้นการเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ของผู้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับ ผู้รับใบรับจดแจ้ง หรือผู้รับใบรับแจ้งรายละเอียดรายเดียวกัน
(๑๕) โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรใช้เฉพาะสถานพยาบาล

ความใน (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๔) และ (๑๕) ไม่ใช้บังคับแก่การโฆษณาซึ่งกระทำโดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ทั้งนี้ การโฆษณาซึ่งกระทำโดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าว ต้องได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๗๐

ความใน (๑๑) (๑๒) และ (๑๓) ไม่ใช้บังคับแก่การแสดงข้อความที่อยู่บนฉลากและเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ข้อ ๕ (สิ่งที่ต้องแสดงในโฆษณา)

ข้อ ๕ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต้องแสดงข้อความหรือสัญลักษณ์ ดังนี้

(๑) แสดงชื่อผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ถูกต้องอย่างน้อย ๑ ครั้ง หรือ ๑ แห่ง ที่ตรงตามใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ใบรับแจ้งรายละเอียดผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือใบรับจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือชื่อของวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร
(๒) แสดงเลขที่ใบอนุญาตโฆษณาในสื่อโฆษณาทุกชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ชัดเจน โดยอาจให้แสดงรหัสสัญลักษณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมด้วยก็ได้
(๓) แสดงข้อความ ดังต่อไปนี้ “ผู้บริโภคสามารถแจ้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่สายด่วน อย. ๑๕๕๖”
(๔) กรณีมีการแสดงคำเตือนที่ฉลากหรือเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ให้แสดงข้อความ ดังต่อไปนี้ “อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ก่อนใช้”

การแสดงข้อความตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) ด้วยตัวอักษรต้องสามารถอ่านได้ชัดเจนหรือการแสดงข้อความตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) ด้วยเสียงต้องสามารถรับฟังได้อย่างชัดเจนความเร็วและความดังของเสียงต้องสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ การโฆษณาผ่านทางสิ่งของสำหรับแจกหรือของชำร่วย ให้ยกเว้นการแสดงข้อความตาม (๒) (๓) และ (๔) และการโฆษณาทางสื่อเสียงที่มีระยะเวลาโฆษณาน้อยกว่า ๑๐ วินาทีให้ยกเว้นการแสดงข้อความตาม (๓) และ (๔)

ข้อ ๖ (เงื่อนไขการโฆษณา)

ข้อ ๖ เงื่อนไขในการโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีดังต่อไปนี้

(๑) โฆษณาตามที่ได้รับอนุญาต
(๒) การโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต สื่อสังคม (Social Media) หรือสื่ออื่นใดของผู้ได้รับอนุญาตโฆษณา หากมีบุคคลได้แสดงความคิดเห็นต่อสื่อโฆษณา โดยใช้ข้อความในลักษณะซึ่งขัดต่อกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้ผู้ได้รับอนุญาตโฆษณามีหน้าที่ควบคุม และเฝ้าระวังการแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นมิให้เผยแพร่ต่อไป
(๓) หากใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ใบรับแจ้งรายละเอียด หรือใบรับจดแจ้งของผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นถูกยกเลิกหรือเพิกถอน หรือมีคำสั่งจากผู้อนุญาตให้เพิกถอนใบอนุญาตโฆษณาให้ผู้ได้รับอนุญาตโฆษณางดเว้น หรือยุติการเผยแพร่โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวผ่านสื่อโฆษณาทั้งหมด
(๔) การโฆษณาเครื่องหมายหรือการรับรองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้องมีหลักฐานแสดงว่าได้รับการรับรองจริง โดยหลักฐานจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ประกาศ ณ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
อนุทิน ชาญวีรกูล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

อ้างอิง

https://www.fda.moph.go.th/Herbal/SitePages/Document/law/announce_ministry/law_herbal3-15.PDF